pic of day

pic of day

วันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2554

มาเลือกซื้อ ไฟสตูดิโอ กันดีกว่า



ผมไม่คิดว่าจะเขียนเรื่องนี้ ในขณะที่บล็อกนี้ คือ บล็อกคนเล่นแสง!! มาคิดอีกที ก็ เออ มีก็ไม่เลวนะ เรื่องของเรื่องก็คือ บ่ายๆนี้ ผมจะลองค้นกูเกิล เพื่อหาว่า แฟลชจากจีนถูกๆ ราคา 2700 บาท ขนาด 250WS ยี่ห้อ GODOX ที่กำลังข้ามน้ำข้ามทะเลมานี้ มีใครในไทยใช้บ้างไหม คำตอบคือ ไม่มี !!! มีแต่เวปขายของ สองสามเวป ก็จะให้รายละเอียดคร่าวๆตามที่มีใน e-bay หรือได้จากเวปผู้ผลิต ผมเองหาคนใช้แฟลชยี่ห้อนี้ในกลุ่มเล่นแสงก็พบว่ามีคำตอบไม่มากเหมือนกัน มีคนตอบในแง่บวก และ ลบ เกี่ยวกับแฟลชตัวนี้ แต่เมื่อค้นไปเรื่อยๆจะเจอบวกมากกว่าลบ ผมเลยตัดสินใจเสี่ยงดู เจ๊ง ก็ไม่เห็นเป็นไร ถ้าไม่เจ๊ง ก็คุ้มละวะ

ไอ้ที่อยากเขียนเพราะ ในคำค้นของ กูเกิล นั้น ไปพบลิงค์ที่แสดงความเห็นเกี่ยวกับการเลือกซื้อไฟสตู และแต่ละคนก็จะมีคำแนะนำต่างๆกันไป แต่ทั้งหมด ไม่ได้มีข้อเท็จจริงด้านวิทยาศาสตร์ประกอบ มักเป็นความเห็นเชิงการใช้งานบ้าง ในแง่ความรู้สึกส่วนตัวบ้าง หรือประสบการณ์เกี่ยวกับบริการหลังขายบ้าง ประสมกันไป บ้างก็ให้ความเห็นดูจะเป็นเทคนิคแต่ท้ายสุดก็เป็นความเห็นลอยๆ ผมก็เลยคิดว่า ถ้าเราจะต้องเขียนบล็อกเพื่อให้ความรู้เรื่องนี้เสียแล้วกระมัง อย่างน้อย ก็จะช่วยให้คนที่ยังนึกว่า การเล่นไฟสตู หรือ แฟลชสตู เป็นเรื่องไฮโซ เป็นเรื่องการเสียเงินแพงๆ เป็นเรื่องลึกลับดำมืด ออกไปซะ เพราะมันก็คือ แฟลช ธรรมด๊า ธรรมดา เหมือนที่เราใช้กันกับหัวกล้องนี่แหละ

มาเริ่มกันจากความรู้พื้นฐานเรื่องไฟสตูดิโอ หรือ สโตรป หรือ แฟลชสตู กันดีกว่า แฟลชสตูดิโอ หรือ สโตรป ส่วนใหญ่แล้วมันก็คือ แฟลชแมนน่วล ธรรมดาๆตัวหนึ่ง แต่ดันให้กำลังไฟเยอะ มีแรงมาก ว่างั้น สามารถใส่อุปกรณ์ดัดแปลงแสงได้หลากหลาย แต่เดิมนั้นราคาแฟลชสตูดิโอมีราคาค่อนข้างสูง แต่ไม่สูงไปกว่า แฟลช TTL หัวกล้องถ้าเทียบกับกำลังวัตต์ที่เท่าๆกัน และอันที่จริงแฟลชหัวกล้องแบบ TTL มีราคาสูงมากกกก จากการที่เราเล่นแสง ระบบแฟลชแยก เราต้องการเพียงแฟลชแมนน่วลถูกๆ เพื่อใช้งาน แต่เมื่อเราต้องการ กำลัง ที่มากขึ้น แฟลชสตูดิโอ จึงเป็นทางเลือกที่เริ่มคุ้มค่ามากขึ้น โดยเฉพาะแฟลชสตูดิโอ จาก จีน ที่เริ่มผลิตมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังกังขาในเรื่องคุณภาพ

เราจะเลือกแฟลชสตูดิโอกันอย่างไรดี?

แรกเริ่มก็คงเป็นเรื่อง กำลัง แน่นอน การขยับจากแฟลชแมนน่วลขนาด GN 120 ฟุต หรือ กำลังประมาณ 60-100WS นั้น (พวก Sunpak 444D, Sunpak 383, Nikon SB-xx, SB-xxx , Canon 580EX) ก็ย่อมต้องหากำลังที่สูงกว่า 100WS แต่จะเอาแค่ไหน มักเป็นคำถามที่ถามกันมาก คนที่ลงเรียน CL 101 กับผมก็จะได้คำตอบดีกว่า แค่ไหนถึงจะเหมาะ เพราะมันขึ้นกับ งานที่คุณต้องเอาไปใช้ คุณต้องการถ่ายของที่มีขนาดใหญ่โตมากหรือไม่ เช่น ถ่ายรถยนต์ หรือ ถ่ายงานอินทีเรียห้องขนาดใหญ่ หรือ ถ่ายสู้แสงแดดยามเที่ยงวัน แล้วอยากได้ฟ้าสีเข้ม!!!! การนับสต๊อป เพื่อให้รู้ว่า คุณต้องการ กำลังแค่ไหนนั้น เป็นเรื่องที่ต้องคำนึง อาทิ คุณอยากใช้ ซอฟต์บ็อกซ์ขนาดใหญ่ กินแสงสองสต๊อป ห่างจากแบบ 6 ฟุต แล้วคุณอยากถ่ายด้วยค่า F16 ได้สบายๆ คุณควรใช้กำลังกี่ WS ? จริงๆคำตอบนี้ไม่มีตรงๆตัวแต่พอจะคำนวนหยาบๆได้โดยใช้จุดอ้างอิงโดยประมาณสักจุดหนึ่ง
สมมติเราตีว่า แฟลช GN 120 ฟุตที่ 35mm อย่าง Vivitar 285HV มีกำลังประมาณ 60WS (ผมเคยแกะคาปาซิสเตอร์ออกมาดู พบว่า มันมีค่า 1100uf 350V) ผมสามารถใส่ซอฟต์บ็อกซ์ ขนาด 80*80 cm ผ้าสองชั้นใช้เต็มกำลัง ห่างแบบ 5 ฟุต ผมวัดแสงได้ F5.6 ที่ ISO 100 ดังนั้นถ้าผมอยากได้ F8.0 ผมต้องใช้กำลัง 120 WS คิดไปเรื่อยๆ จะพบว่า ถ้าต้องการให้ได้ F16 ก็ต้องการ 480WS
ดังนั้นถ้าคุณต้องการเอาแฟลชสตู สู้แสงแดดยามเที่ยง ใส่ซอฟต์บ็อกซ์ 80*80 cm ห่างแบบ 5 ฟุต คุณก็ต้องการอย่างน้อย 480WS
แต่ถ้าคุณคิดว่า การใช้ไฟ 480WS ซัดเต็มกำลังตามเงื่อนไขข้างต้น แล้วต้องใช้เวลารีไซเคิล 2 วินาที นานไป คุณก็ต้องการกำลัง 960 WS เพื่อลดเวลาการรีไซเคิลลงมาให้เหลือ 1 วินาที โดยใช้กำลัง ครึ่งเดียว!!! (สมมติว่า ไฟ 960WS รีไซเคิลที่ 2 วินาที) อย่างในกรณีฝรั่งรายหนึ่งทดลองเ่ล่นๆก็ได้ผลใกล้เคียงกัน (the sb900 can give you an aperture of f8 at a given distance of at least 3 ft from the subject. The Ab1600 can give you an aperture of f16 at a given distance.* . I used a lastolite 15x 15 cm softbox for this.) http://samcoran.wordpress.com/2010/04/30/ab1600-light-test/ หมายเหตุ สำหรบคนที่ไม่รู้จักแฟลช เอเลี่ยน บี ตัว AB1600 นั้น จริงๆใช้กำลัง 640WS

ดังนั้น การจะใช้กำลังเท่าไหร่ มันก็มีเหตุมีผลของมัน ไม่ใช่คิดเอาเองลอยๆ !!!!

จากเหตุการณ์ด้านบน คุณก็พอจะเห็นภาพ คร่าวๆ แล้วว่า กำลัง ที่คุณต้องการใช้งาน น่าจะอยู่ในระดับไหน แต่ไม่ต้องตกใจไปถ้าคุณรู้สึกว่า ต้องการกำลังไฟสูงมากเกินไป เพราะกล้องดิจิตอลสมัยนี้ น๊อยส์ น้อยมาก คุณสามารถใช้ ISO 400 ได้สบายๆ ก็หมายความว่าถ้าผมมีแฟลช 250WS แล้วผมดัน ISO จาก 100 ไปที่ 400 ผมก็จะเสมือนมีไฟที่แรงขึ้นจากเดิม 250WS ไปเป็น 1000WS ซะงั้น!



ตัวที่สองที่ควรดูก็คือ เวลาในการประจุไฟเมื่อใช้เต็มกำลัง หรือ รีไซเคิลไทม์ ซึ่งแฟลชทุกตัวมักบอกค่านี้เสมอ แฟลชแรงๆก็มักมีค่าไรไซเคิลนานมากขึ้น แต่ไม่ควรเกิน 3 วินาที เพราะหมายความว่า ถ้านานกว่านี้ การถ่ายภาพที่จำเป็นต้องใช้ไฟเต็มกำลัง ก็คงไม่สนุกเท่าไหร่ที่ต้องมารอ 3 วินาที ในการถ่ายชอตต่อไป

ตัวที่สามที่ควรดูก็คือ ระยะเวลาการวาบของไฟ ซึ่งอันนี้ถือว่า สำคัญมากกกก สำหรับคนที่ต้องการใช้ไฟเพื่อหยุดการเคลื่อนไหว และ ตัวนี้แหละ ที่จะชี้ว่า ไฟสตู ของคุณนั้น มันเจ๋ง จริงหรือไม่ ผมพบว่า ไฟสตูของไทย ทั้งหมด ไม่บอกค่านี้ออกมา (หรือผมหาไม่เจอ)

คุณคงนึกออกว่า ไฟแฟลช ที่วาบออกมา ที่รู้สึกว่ัามันเร็วนั้น จริงๆแล้ว มันก็มีระยะเวลาในการวาบเหมือนกัน ลองนึกถึงหลอดไฟแบบใส้ที่กำลังวัตต์สูงๆ เวลาคุณเปิดคุณอาจเห็นใส้ที่ค่อยๆลุกแดงจนเป็นแสงสว่างและเมื่ือปิดไฟ มันก็จะค่อยๆหรี่ลงจนเห็นใส้ลุกแดงอีกครั้งก่อนดับ แฟลช ก็แช่นกัน เพียงแต่มันเกิดขึ้นเร็วมาก

โดยทั่วไปแฟลชชั้นดีมักบอกค่าการวาบของไฟว่าเร็วเป็น เศษหนึ่งส่วนเท่าไหร่ ของวินาที เช่น 1/800 1/1000 วินาที แต่ช้าก่อน นั่นยังไม่ใช่ที่สุด เพราะค่าการวัดระยะเวลาการวาบของแฟลชนั้น จะมีค่าสองค่าคือ ค่า T.1 และ T.5 แล้วมันคืออะไร? ลองมาดูกราฟข้างล่าง




โดยทั่วไป แล้วระยะเวลาการวาบของแฟลช ที่บอกจากโรงงาน มักบอกเป็นที่ระยะเวลา T.5 หรือระยะเวลาที่ 50% ของการวาบที่เกินครึ่งหนึ่ง หรือเป็นช่วงที่แฟลช กำลังเปล่งกำลังสูงสุด แต่ค่าที่สำคัญอีกค่าก็คือ T.1 หรือระยะเวลาเกือบทั้งหมดตั้งแต่แฟลชวาบจนเกือบจะดับ ถามว่าทำไมสำคัญ ตัวนี้แหละครับ จะเป็นตัวบอกว่า แฟลชของคุณนั้น สามารถ หยุดความเคลื่อนไหวได้ดีขนาดไหน ลองนึกถึง ว่าคุณต้องการ หยุดหยดน้ำ ในห้องมืด แล้วค่า T.1 ของคุณมีค่ามาก สมมติได้ 1/60 วินาที นั่นหมายความว่า คุณอาจจะเห็นน้ำหยดไม่นิ่งสนิทพอ จะีมีเงาจางๆ (ของช่วงที่แฟลชกำลังดับ) ติดมาด้วย!!! เหตุการณ์นี้ เกิดขึ้น กับการทดลองของ เดวิท ฮอบบี้ จากการทดสอบแฟลชจีนตามภาพนี้ รายละเอียดตามไปอ่านใน ลิงค์นี้้




และแฟลชสตูดังๆของโลก มักให้ค่านี้ไว้เสมอ และ ถ้าไม่ให้มา อย่างน้อยถ้าคุณรู้ค่า T.5 ก็จะพอรู้คร่าวๆได้ว่า T.1 นั้นเป็นเท่าไหร่
จากหลักการทั่วไปที่ว่า ค่า T.1 นั้น มักจะเป็น 3 เท่าของค่า T.5 นั่นหมายความว่า ถ้าแฟลชของคุณมีค่า T.5 เป็น 1/1000 วินาที ค่า T.1 ก็น่าจะอยู่แถวๆ 1/300 วินาที เป็นต้น








ดังนั้น ถ้าแฟลชสตูอันไหนไม่ให้ค่านี้ไว้ ก็ให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่า น่าจะมีระยะการวาบของแฟลชที่นาน

เอาแค่ 3 ข้อนี้ ที่ควรพิจารณาเป็นสำคัญ เรื่อง การใช้งาน แอสเซสโซรี่ เช่น ซอฟต์บ็อกซ์ กริด ร่ม สนู๊ท หรือ อื่นๆ แม้จะสำคัญแต่ก็เป็นรองสามเรื่องใหญ่ที่ผมกล่าว สำหรับไฟสตูแบบพกพาก็มักจะมีเรื่องจำนวนการใช้งานเต็มกำลังว่า ใช้กับแบตแพคได้กี่ป๊อปก่อนที่ไฟจะหมด เป็นต้น

บริการหลังขาย และ ระยะเวลาในการซ่อม ก็สำคัญไม่แพ้กัน แต่อย่าลืมว่าแฟลชพวกนี้ เสียยากมากกก ครับ เต็มที่ก็มักเป็นการเปลี่ยนหลอดแฟลช ซึ่ง แฟลชยี่ห้อดังหลายค่าย มักให้คุณสามารถซื้อใส้หลอดไปเปลี่ยนเองได้ แค่ เสียบเข้าออก เหมือนเปลียนหลอดไฟนีออนนั่นแหละ

ผมหวังว่า บทความนี้น่าจะเป็นจุดเิริ่ม ให้คุณเห็นแนวทางในการเลือกใช้ไฟสตูนะครับ

6 ความคิดเห็น:

  1. เยี่ยมครับ จากที่ไม่รู้เลย ได้รู้ และเลือกแฟลชได้แล้วอะครับ ขอบคุณครับ

    ตอบลบ
  2. เป็นบทความที่มีประโยชน์มากครับ กําลังเล็งๆไว้เหมือนกันเเต่เป็นหว่งเรื่องความร้อน Flash จีนบางตัว Case เป็นพาลสติกทําเวลาร้อนมากๆเเล้วน่าหวาดเสียว

    ตอบลบ
  3. ขอบคุณครับอาจารย์

    ตอบลบ
  4. เหมือนได้เรียนเรื่องแฟลช 1 คาบเลยครับ ได้รู้อะไรมากขึ้นอย่างที่ไม่รู้เรื่องมาก่อนจริงๆ ขอบคุณมากครับผม

    ตอบลบ
  5. ขอบคุณความรู้มากครับ

    ตอบลบ