แนวการถ่ายภาพที่เรียกกันว่า Minimalist หรือ ความเรียบง่าย นั้น เป็นแนวคิดที่มีมานาน บางคนอาจเรียกชื่อกันไปต่างๆนาๆ เช่น Zen photography แต่อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้ มาจากการที่เราคิดว่า การที่เราเลือกองค์ประกอบภาพที่ไม่ซับซ้อน รกรุงรังนั้น ให้ผลต่อความน่าสนใจในภาพสูง อาจเทียบได้ว่า Small is beautiful มีบทความที่แนะนำ 10 วิธีในการถ่ายภาพโดยอาศัยความเรียบง่ายนี้เป็นพลัง
บทความชื่อว่า A 10 Step Guide to Superb Minimalist Photography ซึ่งผมเห็นว่า เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจและมีประโยชน์ จึงขอยกสรุปมาเขียนให้อ่านกันนะครับ
1. เข้าใจความคิดพื้นฐานของความเรียบง่าย : แนวคิดเรื่องนี้ เน้นไปที่การนำเอาองค์ประกอบภาพ อาทิ เส้น สี รูปร่าง พื้นผิว หรือ รูปทรง มาใช้ให้น้อยทีสุดในภาพ โดยทิ้งให้ผู้รับชมภาพได้ดื่มด่ำและตีความหมายภาพโดยตัวของผู้ชมภาพเอง วิธีการเช่นนี้ เปิดอิสระความคิดในการตีความหมายภาพ โดยบางครั้งอาจไม่ได้มีทิศทางหรือซับเจคใดๆในภาพ
2. ทำให้มันเรียบง่ายเข้าไว้ : เมื่อเราเข้าใจหลักพื้นฐานของการถ่ายภาพแนวเรียบง่าย แต่มันไม่ได้หมายความว่ามันจะน่าเบื่อหรือไม่น่าสนใจ แต่ขอให้เราจงพยายามเลือกซับเจคที่น่าสนใจหรือดึงดูดสายตา ตัวซับเจคเองจะต้องเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดในภาพ แต่ไม่จำเป็นต้องกินพื้นที่ส่วนใหญ่ในภาพ
3. คอมโพสิชั่น : อันนี้ไม่ต้องพูดมาก เพราะทุกคนต่างรู้กันดี โดยเฉพาะกฎทอง เรื่อง จุดตัด 9 ช่อง ขอให้เราประยุกต์กฎต่างๆของการจัดวางองค์ประกอบภาพให้จงดี
4. ใช้สีให้ส่งเสริมกัน : สีนับเป็นองค์ประกอบภาพที่แข็งแรงอันหนึ่ง บางครั้ง การรู้จักเลือกใช้สีที่ส่งเสริมกันนั้น สามารถสร้างความโดดเด่นให้กับภาพแม้บางครั้งจะไม่มีซับเจคใดๆในภาพเลยก็ตาม ยิ่งสีมีความสว่างสดใสมากก็ยิ่งน่าสนใจ (ระวังเรื่องคอนทราสที่จัดด้วย)
5. รู้จักใช้เส้นที่แข็งแรง : เส้นที่แข็งแรงไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นเส้นตรง แต่เป็นเส้นที่โดดเด่นเห็นได้ชัด เส้นในแนวตั้งและแนวนอน เมื่อใช้ให้เหมาะสม ก็จะสามารถสร้างความน่าสนใจให้กับภาพได้มาก ดังนั้นขอให้เราสังเกตหาเส้นที่จะนำมาสร้างเป็นองค์ประกอบภาพที่โดดเด่นและใช้ประโยชน์จากเส้นเหล่านั้น
6. เก็บเอารายละเอียดเล็กๆน้อยๆของความรู้สึกเข้าไว้ด้วย : แม้ว่าภาพแนวเรียบง่ายหลายภาพ อาจใช้องค์ประกอบภาพแค่ สี หรือ พื้นผิว แต่เราก็อย่าลืมรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ที่จะทำให้ภาพมีความสมบูรณ์ อาทิ ทิศทางแสงที่จะช่วยขับพื้นผิวให้โดดเด่น หรือ คอนทราสที่เหมาะสมกับภาพ ทำให้ผู้มองสามารถรู้สึกได้ถึงภาพที่เขาเห็นตรงหน้าได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด
7. เปิดตาให้กว้าง : มองหาสิ่งต่างๆรอบตัวที่น่าสนใจ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น ช่องว่าง สีต่างๆที่เรียงราย ซับเจคที่น่าสนใจซึ่งอยู่โดดๆ และ เส้นสายที่น่าสนใจ รูปทรงเรขาคณิตก็นับเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจเช่นเดียวกัน ซึ่งจะหาได้ไม่ยากกับสถาปัตยกรรมของอาคารทั้งหลาย ลองมองไปรอบๆและเลือกหาส่วนใดส่วนหนึ่งที่โดดเด่นขึ้นมา
8. การปรับแต่งภาพ : การปรับแต่งภาพในแนวทางของความเรียบง่าย จะเน้นไปที่การปรับแต่ง เพื่อดึงเอาลักษณะเด่นของภาพนั้นออกมา มากกว่าที่จะปรับแต่งให้ หลุดโลก หรือ ไปในทิศทางอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์ที่จะสื่อความหมายของภาพ
9. เล่าเรื่องราว : แม้ว่าแนวทางของการถ่ายภาพแบบเรียบง่าย จะเน้นไปที่การใช้ เส้น สี รูปทรง รูปร่าง พื้นผิว แบบเรียบง่ายก็ตาม แต่มันไม่ได้หมายความว่า เมื่อคุณพบสิ่งที่น่าสนใจแล้วจะไม่นำมันมาใช้ประโยชน์ ตรงนี้จะเป็นการท้าทายตัวคุณเองว่า คุณสามารถสร้างเรื่องราวจากความเรียบง่ายได้หรือไม่? หากคุณได้รับมอบหมายให้ถ่ายงานพิธีต่างๆ ท้ายสุด คุณสามารถเล่าเรื่องราวจากภาพเพียงภาพเดียวได้หรือไม่?
10 จงมีความคิดสร้างสรรค์เสมอ : เมื่อเราเข้าใจพื้นฐานและหลักการของการถ่ายภาพแบบเรียบง่ายแล้ว อย่าลืมที่จะสร้างสรรค์ผลงาน หาความคิดริเริ่มใหม่ๆให้กับภาพอยู่เสมอ แม้ว่าบางคร้งอาจไม่ประสบความสำเร็จ แต่จงพยายามค้นหาสิ่งแปลกใหม่ท้าทาย ในแนวทางของความเรียบง่ายอยู่เสมอ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น